ลำดับเหตุการณ์สำคัญ

กำเนิดคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
The Early Days of Faculty of Medicine, Chulalongkorn University


คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือกำเนิดจากพระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล
พระอัฐมรามาธิบดินทร ในการเสด็จพระราชทานปริญญาบัตรและอนุปริญญาบัตร ณ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์  เมื่อวันที่  23
เมษายน พ.ศ.2489 พระราชทานพระบรมราโชวาทเป็นใจความสำคัญว่า มีพระราชประสงค์ให้มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ผลิต
จำนวนผู้ได้ศึกษาสำเร็จหลักสูตรให้มีปริมาณมากขึ้น เพื่อออกมาช่วยเหลือประเทศชาติ

เพื่อสนองพระราชประสงค์ดังกล่าว ผู้บัญชาการมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ในขณะนั้น ศาสตราจารย์นายแพทย์เฉลิม พรมมาส
ได้ประสานงานการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์แห่งใหม่ ร่วมกับ ศาสตราจารย์อุปการคุณ พลตรีพระยาดำรงแพทยาคุณ  ผู้อำนวย
การกองบรรเทาทุกข์และอนามัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยโดยใช้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภา-
กาชาดไทย เป็นสถานที่จัดการเรียนการสอน

คณะแพทยศาสตร์แห่งใหม่นี้กำเนิดขึ้นในนาม  “ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์  มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ” ใน
พระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการกรมมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ในกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2490  มีผล
บังคับใช้วันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2490 

ช่วงเริ่มต้นของคณะแพทยศาสตร์แห่งนี้บุคลากรทุกภาคส่วนต้องใช้ความพยายามอย่างสูงในการฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ เมื่อครั้ง
เริ่มต้นจนกระทั่งคณะแพทยศาสตร์แห่งนี้ สามารถดำเนินการเปิดการเรียนการสอนได้ภายใน 9 เดือนเศษนับจากการเจรจาเพื่อ
จัดตั้งสำเร็จ ผู้บริหาร คณาจารย์ นักศึกษาแพทย์ (นิสิตแพทย์ในขณะนั้น) และเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายใช้ความตั้งใจและความพยายาม
อย่างต่อเนื่องในการพัฒนาคณะแพทยศาสตร์แห่งนี้ จนเป็นที่ยอมรับ และเป็นหนึ่งในโรงเรียนแพทย์ชั้นนำในระดับประเทศ ณ
เวลานั้น

ต่อมาเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2510 คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์โอนย้ายเข้าสังกัด
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็น “คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” โดยความร่วมมือในการผลิตแพทย์ การบริการด้าน
การแพทย์ และวิชาการร่วมกับ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยนับได้ว่ามีความสัมพันธ์เคียงคู่กัน และ
มีการพัฒนาร่วมกันอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่วันที่เริ่มก่อตั้งคณะแพทยศาสตร์ ทั้งในเชิงโครงสร้างการบริหารจัดการ การดำเนินการ
พันธกิจ ทั้งด้านการเรียนการสอนของนิสิตแพทย์ และนิสิตระดับบัณฑิตศึกษา การผลิตแพทย์เฉพาะทาง การบริการด้านการแพทย์
ชั้นนำการเป็นแหล่งอ้างอิงทางวิชาการระดับสูง  การผลิตนวัตกรรมและงานวิจัยการเผยแพร่ความรู้สู่สังคม  ที่มีบทบาทต่อวงการ
แพทย์ และประชาชนมาโดยตลอด มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับทั้งในระดับประเทศและนานาชาติอย่างต่อเนื่อง สมดังปรัชญาที่ว่า
“ แพทย์จุฬาฯคู่กาชาดไทย วิชาการก้าวไกลสู่สากล รับใช้ปวงชนด้วยคุณธรรม ”